วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ดอกไม้ประจำชาติลาว






ดอกไม้ประจำชาติลาวคือ “ดอกจำปาลาว” (Champa) ที่เรารู้จักกันดี คนไทยมักจะเรียกว่า ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม ในเขมรจะเรียกว่า ต้นขอม หรือดอกอม มีชื่อเรียกทางพฤกษ์ศาสตร์ว่า พลูมีเรีย หรือพลัมมีเรีย (plumieria) ตั้งตามชื่อของนักพฤกษ์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ชาร์ล พลัมเมอร์ ชื่อเรียกทางวิชาการคือ ฟรังกีปานี (frangipani) มีความหมายทางวิชาการว่า ยางสีขาวข้นเหนียวของต้นลั่นทม ถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติลาวเนื่องจากชาวลาวเชื่อว่าดอกไม้ชนิดนี้คือตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช่ในงานพิธีการต่างๆ ทั้งทำเป็นดอกไม้ประดับตกแต่งให้ดูสวยงามและทำเป็นพวงมาลัยสำหรับรับแขก มีการปลูกทั่วไปตามบ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่างๆ

ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา






ดอกไม้ประจำชาติกัมพูชาคือ “ดอกลำดวน” (Rumdul) เป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกตามสวนสาธารณะปลูกตามบ้านเรือนของชาวกัมพูชา ดอกจะมีลักษณะเป็นสีขาวปนเหลือง มีกลิ่นหอมกรุ่น เปรียบดอกไม้ชนิดนี้เหมือนกับผู้หญิงชาวกัมพูชา เป็นดอกไม้ที่เชื่อกันว่าถ้าหากปลูกไว้บริเวณบ้านจะทำให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย จึงเป็นที่นิยมปลูกกันมาก



ดอกไม้ประจำชาติพม่า






ดอกไม้ประจำชาติพม่า คือ “ดอกประดู่” (Paduak) ซึ่งพบมากในประเทศพม่ากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ ดอกจะมีลักษณะสีเหลืองทอง ในฤดูฝนดอกไม้ชนิดนี้จะส่งกลิ่นหอม ในช่วงประมาณเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูฝนช่วงแรกของทางประเทศพม่า ตรงกับช่วงของวันปีใหม่พอดี ก็จะมีการเฉลิมฉลองกัน และใช้ดอกประดู่ในการประดับตกแต่ง หรือใช้ประกอบพิธีสำคัญของชาวพม่า ชาวพม่ามีความเชื่อว่าดอกประดู่นี้เป็นตัวแทนของความแข็งแรงและทนทาน จึงถูกนำมาเป็นดอกไม้ประจำชาติ

ดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย





ดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย คือ ดอกชบาสีแดง หรือ บุหงารายา (Hibiscus) ถูกเลือกและประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติมาเลเซียในปี ค.ศ. 1990 ชาวมาเลเซียมีความเชื่อว่า ดอกชบาสีแดง จะส่งเสริมให้ประเทศสูงส่งและสง่างาม ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ความอดทนของคนในประเทศชาติ เนื่องจากได้ให้ความหมายของส่วนประกอบต่าง ๆ ของดอกชบาสีแดงนี้ว่า กลีบดอกทั้ง 5 คือ หลักของความเป็นชาติทั้ง 5 ประการ สีแดงของดอก คือ ความกล้าหาญ ปกติแล้วชบาเป็นพื้นที่มีการกระจายพันธุ์และต้นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้น ในประเทศอินเดีย จีน บริเวณหมู่เกาะแปซิฟิก และได้กระจายพันธุ์ไปทั่วโลก มีประมาณ 200-230 ชนิดทั่วโลก

ดอกไม้ประจำชาติของประเทศไทย




ดอกไม้ประจำชาติของประเทศไทย คือ ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน (Golden Shower) เป็นไม้มงคลที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีสำคัญ เช่น พิธีเสาไม้หลักเมือง ใช้ทำคฑาจอมพล ยอดธงเฉลิมพล ทำพิธีปลูกบ้าน ใช้ในงานประเพณีไทยต่าง ๆ ในสมัยก่อนคนไทยก็ยังมีความเชื่อว่าการปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะเป็นเกียรติ และ ดอกก็มีสีเหลืองดูสง่างาม ซึ่งถือว่าสีเหลืองเป็นสีของวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นสีแห่งความสว่างไสวแห่งพระพุทธศาสนาอีกด้วย จึงถูกเสนอให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544